บาตรพระดิจิทัล

บาตรพระดิจิทัล

โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ พัฒนาบาตรพระดิจิทัล ที่สามารถระบุพิกัด GPS ของพระภิกษุขณะเดินบิณฑบาตร มาแสดงผลในแอปพลิเคชัน “ตักบาตรเติมบุญ” หวังช่วยคนรุ่นใหม่ที่อยากใส่บาตรบริหารเวลาในตอนเช้าได้ดีขึ้น โดยผลงานการพัฒนาบาตรพระดิจิทัลนี้เป็นแนวคิดของนักเรียนจากโรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ จังหวัดลำพูน ประกอบด้วย นายบารมี ปัญญาเฟือน น.ส.ศุชานุช รินคำ และ น.ส.กณิศนันท์ ทองสกุล ภายใต้ทีมอาจารย์ที่ปรึกษาอาจารย์ทวีป นวคุณานนท์ ครูชำนาญการพิเศษ วิชาคอมพิวเตอร์ และ อาจารย์ปกรณ์ กสินฤกษ์ ที่ส่งเข้าประกวดในโครงการประกวดทักษะการพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมระดับประเทศ จนคว้ารางวัลชนะเลิศ สาขาพลิกฟื้นคืนวิถีชุมชนมาได้สำเร็จ

ซึ่งที่มาของการพัฒนาบาตรพระดิจิทัล หรือชื่อผลงานอย่างเป็นทางการว่า “ตักบาตรเติมบุญ” นั้น ได้รับการบอกเล่าจากอาจารย์ทวีป ในฐานะที่ปรึกษาโครงการว่า “เราลองให้เด็กนักเรียนสำรวจปัญหาในชีวิตประจำวัน ซึ่งเด็กคนหนึ่งมีความใกล้ชิดกับวัด และพบว่า ทุกวันนี้คนที่มาตักบาตรเป็นคนสูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่คนหนุ่มสาวต่างต้องออกไปทำงานแต่เช้า ไม่ค่อยมีเวลาตักบาตร ก็เลยคิดว่าจะหาทางทำอย่างไรให้คนวัยรุ่น วัยทำงานสามารถทำบุญได้สะดวกขึ้น ก็เลยพัฒนาเป็นอุปกรณ์ต้นแบบขึ้นมา”

    โดยในสิ่งประดิษฐ์จะมีการนำอุปกรณ์ GPS มาติดตั้งเพื่อระบุพิกัดของพระภิกษุขณะบิณฑบาตร และแสดงผลผ่านทางแอปพลิเคชันตักบาตรเติมบุญ ที่พัฒนาขึ้นเอง โดยใช้ Google Maps ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใส่บาตรทราบว่าพระภิกษุอยู่ที่จุดไหนกันบ้าง ทำให้ไม่ต้องรอใส่บาตรนานและใช้สามารถบริหารจัดการเวลาได้ดีขึ้น 
    “พอพัฒนาต้นแบบเสร็จ ก็นำไปให้พระที่รู้จักกันใช้ และรับฟีดแบ็กมาแก้ไข เช่น เรื่องของน้ำหนักแบตเตอรี่ หรือการทำความสะอาด ซึ่งในอุปกรณ์ต้นแบบตัวล่าสุดเราสามารถลดน้ำหนักของอุปกรณ์ลงไปได้โดยการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติในการขึ้นรูปฝาบาตรพระ และออกแบบฝาบาตรพระให้เป็นสลัก สามารถถอดออกได้เพื่อทำความสะอาดง่ายขึ้น” ส่วนที่ว่า ทำไมต้องเป็นฝาบาตรพระติด GPS นั้น อาจารย์ทวีปมองว่า ส่วนหนึ่งคือพระภิกษุไม่ได้มีโทรศัพท์มือถือทุกรูป และพระภิกษุบางรูปที่สูงอายุก็อาจไม่ถนัดใช้โทรศัพท์มือถือก็เป็นได้ ดังนั้น จึงมองว่า การพัฒนาออกมาเป็นอุปกรณ์ที่พระภิกษุคุ้นเคยน่าจะเหมาะสมกว่า

(ซ้ายไปขวา) อาจารย์ปกรณ์ กสินฤกษ์, น.ส.ศุชานุช รินคำ, นายบารมี ปัญญาเฟือน,น.ส.กณิศนันท์ ทองสกุล และอาจารย์ทวีป นวคุณานนท์

โดยในปัจจุบัน ทางโรงเรียนบอกว่ามีอุปกรณ์ต้นแบบอยู่ 4 ชุด และในอนาคต อยากจะทดลองหาวัดตัวอย่างสักแห่งมาใช้งานอย่างจริงจัง เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานต่อไป

“เราไม่อยากให้การตักบาตรหายไปจากวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ และเชื่อว่านี่คืออีกหนึ่งช่องทางให้เขายังสามารถทำบุญได้โดยสะดวก” อาจารย์ทวีปกล่าวทิ้งท้าย

 ที่มาของข้อมูล https://www.brandbuffet.in.th/2020/10/thai-children-develop-digital-monks-alms-hoping-to-draw-new-generations-to-make-merit-in-the-morning/

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์